วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประสบการณ์การบรรพชาที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์

จุดประสงค์ของบล็อกนี้ ผมตั้งใจทำขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานส่วนหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการจะบรรพชาอุุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี เนื่องจากตอนที่ผมต้องการบรรพชาอุปสมบทนั้น ยังมีหลายเรื่องที่ต้องการทราบและหาข้อมูลเพื่อเตรียมตัว แต่ข้อมูลบางอย่างนั้น ยังมีข้อจำกัดและยังหาข้อมูลได้ยากอยู่พอสมควร

หลังจากได้ลาสิกขาออกมาแ้ล้ว ก็ตั้งใจที่จะเผยแพร่การข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการทราบในการบรรพชาอุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์แห่งนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นวัดที่ยังคงไว้ซึ่งหลักปฎิบัติแห่งวิถีแห่งพุทธ ตามที่หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุได้ตั้งปณิธานไว้ โดยเน้นการบวชที่เรียบง่าย ไม่เน้นประเพณีนิยมตามวัดทั่วๆไป และต้องการที่ให้ พระนวกะ(พระที่บวชใหม่) ได้ใช้เวลาศึกษาและเรียนธรรมะ

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่บวชที่วัดนี้ พระนวกะทุกรูป จะได้เข้ารับการอบรมและศึกษาปฏิบัติธรรม ให้คุ้มค่ากับเวลาที่อยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งทางวัดทราบดีทุกท่านมีข้อจำกัดในด้านเวลา ซึ่งบางท่านอาจขออนุญาตในการลาสิกขาได้เพียง 15 วันถึง 1 เดือน ดังนั้นช่วงเวลาที่อยู่ในวัดแห่งนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกท่านจะได้รู้จักกับ "วิถีแห่งความเป็นพระในพุทธศาสนา " จริงๆ
ดังนั้นทางวัดจะเน้นการอุปสมบทหมู่ และต้องบวชอย่างน้อย 15 วัน เพื่อได้ศึกษาและปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยทางวัดจะมีการบรรพชาอุปสมบททุกๆเดือน โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนธันวาคม ไปจนถึงเดือน มิถุนายน ซึงจะมีตารางกำหนดออกมาสามารถหาข้อมูลที่ เวบไซต์หรือสอบถามข้อมูลจากทางวัดชลประทาน โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการจะอุปสมบทดังนี้

คุณสมบัติของผู้ที่จะขอบวช

๑. มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป
๒. มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ทุพพลภาพ และไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
๓. มีจิตศรัทธาที่จะศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และจะปฏิบัติตามกฎของวัดทุกประการ
๔. ต้องผ่านการทดสอบคัดเลือกตามที่วัดได้กำหนดไว้แล้ว
๕. ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหนังสือลาอุปสมบทจากหน่วยงานต้นสังกัด มายื่นก่อนวันบวช

ดังนั้นหากทุกท่านมีความพร้อมทั้งทางกายและใจ ในการที่จะบรรพชาอุปสมบทแล้วอย่างแท้จริง และต้องการศึกษาและหาข้อมูลเบื้องต้นในการบวชที่วัดแห่งนี้แล้ว ผมก็หวังว่าบล็อกแห่งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านและขออนุโมทนาสำหรับความตั้งใจจริงในการอุปสมบทเพื่อพุทธศาสนาให้ดำรงสืบไว้ต่อไป

โดยในบล็อกนี้จะเน้นเป็นเรื่องเล่าสบายๆ โดยผมเขียนข้อมูลจากความทรงจำ และหากท่านใดที่คิดว่าบล็อกแห่งนี้เป็นประโยชน์ และช่วยเผยแพร่ให้ท่านที่มีความต้องการจะบวชไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ผมก็ขอขอบคุณและัอนุโมทนาในกุศลครั้งนี้สืบไปด้วยครับ

จุดเริ่มต้น
เดิมทีผมตั้งใจที่จะบวชมานานแล้วอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยอุปสรรคเรื่องงาน เวลาและความไม่พร้อมในหลายๆอย่าง ทำให้ปล่อยเวลามาเนิ่นนาน จนกระทั่งอายุ 30 ปี ก็คิดว่าปีนี้ น่าจะถึงเวลาจริงๆแล้ว

ก่อนหน้านี้ที่เคยคิดจะบวชก็เริ่มหาข้อมูลจากอินเทอร์เนต และคนรู้จักมาบ้าง ว่ามีวัดใด ที่เน้นการปฏิบัติและเน้นการบวชที่แท้จริง ในใจก็มีวัดสนามใน แถวจรัลสนิทวงศ์ ทีี่ผมเคยตั้งกระทู้ในพันทิปและมีผู้ใจบุญให้ข้อมูลไว้ และ ก็มีวัดราชาธิวาส ที่ น้องของพี่ที่ทำงานของแฟนผมได้ไปบรรพชาที่นั่น และได้ให้ข้อมูลมา และก็มีวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ที่เพื่อนของผมเคยบวชที่วัดแห่งนี้ และพอทราบถึงความเน้นปฏิบัติของวัดแห่งนี้

และโชคดีที่เพื่อนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมและยังเป็นเพื่อนรักติดต่อกันมาตลอดเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้ๆกัน ได้ชวนผมว่า มาบวชพร้อมกันดีกว่ามั๊ย ที่วัดชลประทานแห่งนี้ โดยเพื่อนผมได้เอาข้อมูลกำหนดการสมัครและรายละเอียดของคำบรรพชาอุปสมบทของวัดแห่งนี้มาให้ เมื่อตกลงปลงใจกันแล้ว เราก็เลือกรอบและกำหนดที่จะบวชในเพือนมิถุนายน 2553

ซึ่งตามปกติจะเริ่้มบวชที่วันที่ 1 และสึกวันที่ 16 แต่เนื่องจาก ช่วงที่เราใกล้บวชนั้น มีวันสำคัญคือ "วันมหาวิสาขบูชา" ซึ่งตรงกับวันที่ 28 พค .2553 ทำให้การบวชของในเดือนมิย. เลื่อนมาบรรพชาอุปสมบทในวันที่ 25 พค.53 แทน

วันสมัคร
โดยเราต้องไปทำการสมัครในวันที่ 9 พค.53 ก่อนบวชประมาณ 2อาทิตย์ โดยนัดเวลาประมาณ 12.30 ผมและเพื่อน รวมถึงแม่และพี่สาวของเพื่อน (ครอบครัวผมไม่ได้มาเพราะอยู่ต่างจังหวัด) ก็ไปถึงวัดประมาณ 11 โมงครึ่ง ก่อนเวลาพอสมควร ซึ่งสถานที่นัดคือ โรงเรียนพุทธรรม ซึ่งเป็นอาคารสองชั้น มีเก้าอี้เรียงไว้ ให้สำหรับผู้ที่ต้องการจะบวชได้นั่ง และสำหรับญาตินั่งอยู่รอบๆ

เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ก็จะมีพระอาจารย์ มาดูความเรียบร้อยและอธิบายถึงขั้นตอน วิธีกรอกใบสมัครคร่าวๆ ก่อนที่ พระครูธรรมธรสมชาย ซึ่งเป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ที่ดูแลพระนวกะทุกรุ่นที่บวชใหม่ ซึ่งพระครูท่านได้ดูแลมากว่า 30 ปีตั้งแต่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อปัญญา จะมาปฐมนิเทศให้

ซึ่งหลังจากนั้นจะให้ทุกคนกรอกใบสมัคร พวกชื่อ ที่อยู่ อาชีพ จุดประสงค์ในการบวช ระยะเวลาในการบวช และจะให้ทุกคน ออกมารายงานตัว เบื้องต้นทีละคน ว่า ชื่ออะไร ทำงานที่ไหน ทำไมถึงบวช ซึ่งคำตอบยอดฮิต คือ บวชเพื่อทดแทนคุณิดามารดา โดยท่านจะอ่าน รายละเอียดในใบสมัครของเราไปด้วย และจะซักถามเป็นพิเศษแล้วแต่บุคคล โดยพวกที่โดนเน้นเป็นพิเศษ คือ พวกที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญา

ในความรู้สึกแรก ผมก็รู้สึกไม่ดีเท่าไหร่ในใจ ว่าทำไมหลวงพ่อต้องเน้นกับกลุ่มนี้ด้วย แต่จริงๆแล้ว หลวงพ่อท่านก็จะซักถามว่าทำไม ถึงเรียนไม่จบ เกเร หรือเปล่า ทำไมไม่เรียนต่อ บางทีก็เรียกผู้ปกครองมาถาม ว่าลูกของโยมเกเรมั๊ย บวชแล้วจะเป็นปัญหามั๊ย อาจจะดูเหมือนดุ แต่จริงๆแล้วหลวงพ่อท่านใจดีมีเมตตามาก (ภายหลังจึงเข้าใจเจตนาอันดีของท่าน)

แล้วก็จะถามว่าใครสูบบุหรีบ้าง ขอให้เลิกได้มั๊ย เพราะไม่้ต้องการให้สูบระหว่างบวช และ พวกที่มีรอยสัก ที่จะโดนพิจารณาเป็นพิเศษ รุ่นผมก็มีคนสมัครประมาณ 140 กว่าคน ผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ ใช้เวลาในการสัมภาษณ์นานเกือบ 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

เมื่อเสร็จแล้วก็จะแจกคำบรรพชา (คลิ๊กอ่าน) เพื่อใช้ในท่องในการอุปสมบท ซึ่งจะกำหนดสอบท่องในวันอาทิตย์ถัดไป ใครที่เตรียมมาก่อน ก็จะโชคดีไป แต่ใครที่พึ่งได้ ก็จะลำบากนิดหน่อย แต่ถ้าตั้งใจจริง ผมว่าก็ท่องได้ คำบรรพชามีเพียงหนึ่งหน้ากระดาษ A4 เป็นการพิสูจน์ความตั้งใจว่าคุณมีความตั้งใจว่าจะบวชจริงๆ และในวันสอบท่อง ท่านจะบอกให้พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง พร้อมทั้งพยานของผู้ที่จะอุปสมบทให้มาด้วย

เพราะหากสอบท่องผ่าน ก็จะต้องเซ็นยินยอมในการบวชครั้งนี้ด้วย และยื่นตรียมเอกสารที่ต้องเตรียมมาให้เรียบร้อยก่อนจากที่บ้าน เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ผลตรวจเลือด HIV จากโรงพยาบาล และหากใครเป็นข้าราชการ ก็ต้องมีใบอนุญาตจากต้นสังกัดมาด้วย

วันสอบท่องคำขอบรรพชา(ท่องขานนาค)
ผมเรียกวันนี้ขำๆ กับเพื่อนว่า "วันออดิชั่นเข้าบ้าน " เรียกว่าแต่ละคนจะตื่นเต้นกันมากๆ สำหรับวันนี้ เวลานัดก็เวลาเดิม 12.30 ซึ่งทางวัดจะเน้นมากเรื่องเวลา ใครมาสาย นี่ ถือว่าแทบจะไม่รับกันเลยทีเดียว เราก็จะได้ลำดับเข้าไปสอบท่อง ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลำดับนี้ เค้าจัดเรียงกันยังไง ผมได้ลำดับคิว 53

โดยก็จะเข้าไปสอบท่องกันหน้าห้องที่ประชุมกันนั่นแหละครับ พระอาจารย์จะมีประมาณ 6- 7 รูป โดยจะเรียงตามลำดับเข้าไปท่องกันทีละคน ใครตื่นเต้นมากๆ ก็แทบจะลืมที่ท่องกันมาแทบเป็นแทบตาย

และที่นี่จะเน้นมากเรื่องการออกเสียง ที่ต้องอ่านและท่องให้ถูกต้อง ใครทำไม่ได้ก็จะไม่ผ่าน ต้องรอท่องเก็บตกในตอนท้ายกันอีกที แต่หากใครไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องรอไปก่อน อาจจะนัดมาสอบท่องในวันหลังแล้วแต่กำหนด ผู้ปกครองนี่ลุ้นกันยิ่งกว่าคนที่จะบวชกันเสียอีก ใครสอบผ่านก็จะหน้่ายิ้มแย้มออกมา ส่วนใครที่ไม่ผ่านก็จะหน้่าจ๋อยๆออกมานิดหน่อย ซึ่งต้องรอลุ้นไปสอบทีหลัง ผมโชคดีที่สอบทีเดียวผ่าน ก็เลยรอดตัวไป

พอสอบท่องเสร็จเราก็กรอกรายละเอียดของตัวท่านเองอีกครั้ง กับแบบฟอร์มการบรรพชาอุปสมบทและให้ผู้ปกครองเซ็นอนุญาตในการบวช กรอกรายละเอียดส่วนสูงและน้ำหนัก เพื่อจะได้กำหนดขนาดของจีวร และ ใช้ในการตั้ง ฉายา ในการอุปสมบท พร้อมทั้งชำระเงินในการดำเนินการอุปสมบทจำนวน 3,000 บาท หลังจากนั้น ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

เรื่องนี้ต้องอธิบายให้เข้าใจ เพราะอาจมีหลายๆท่านไม่เข้าใจว่าทำไม วัดถึงต้องเรียกเก็บเงิน ใครไม่มีเงินก็บวชไม่ได้ใช่มั๊ย คือ ต้องบอกก่อนว่า จริงๆแล้ว ทางวัดไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่จะดำเนินการเป็นธุระ ในการจัดหา อัฐบริขาร ให้ เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบากของของผู้อุปสมบทแต่ละคน และจะได้ดูพร้อมเพรียงเป็นระเบียบและมีลักษณะสีจีวรเป็นแบบเดียวกัน ที่สำคัญ คือ หลวงพ่อไม่อยากให้เราต้องไปสิ้นเปลือง เนื่องจากอาจะโดนพ่อค้าแม่ค้า(บางคน) แนะนำสิ่งต่างๆที่ไม่จำเป็นจนเสียเงินมากเกินไป

โดยเมื่อก่อน จะเก็บเงินเพียง 2,500 บาท แต่ภายหลังทางวัดไม่สามารถแบกรับภาระราคานี้ได้ เนื่องจาก ค่าของและ อัฐบริขาร ได้ขึ้นราคา ทางวัด จึงต้องเพิ่มจำนวนเงินเป็น 3,000 บาท เพื่อดำเนินการในส่วนนี้ให้ โดยในอัฐบริขาร ทั้ง 8 อย่างนั้น ทางวัดจะตัดอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทิ้่งไป เช่น เครื่องกรองน้ำ เข็มเย็บผ้า เป็นต้น

โดยใครที่ไม่มีหรือไม่พร้อมในเรื่องนี้ ก็สามารถบอกกับทางวัดหรือหลวงพ่อได้ โดยทางวัดจะดำเนินการให้เหมือนท่านอื่นๆ เนื่องจากมีโยมที่พร้อมจะร่วมทำบุญและพร้อมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้อยู่แล้ว และไม่ต้องกลัวว่าท่านจะรู้สึกอับอาย(สำหรับบางท่านที่รู้สึก จริงๆไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด) เพราะจะไ่ม่มีใครทราบเรื่อง นอกจากท่านกับหลวงพ่อ โดยทางวัดจะนัดในวัดที่ 24 พค. ก่อนบวชหนึ่งวันที่ต้องมาอยู่ที่วัด

การเตรียมตัวก่อนบวช
ผ่านจากวันนี้ไป ก็เหลือเวลาอีกเพียงสัปดาห์เศษๆ ในการเตรียมตัวที่จะเข้าสู่การเป็นพระ ซึ่งหลายท่านก็คงจะทำการจัดแจงภาระกิจ ทั้งการงานและการเรียนให้เรียบร้อย และจัดเตรียมของที่ใช้สำหรับระยะเวลาที่อยู่ในวัดให้เหมาะสม

เรื่องนี้ หลายๆเรื่องเป็นปัญหาสำหรับพระบวชใหม่ เพราะเราไม่รู้ว่าเราต้องใช้อะไร บ้าง ถ้ามีคนรู้จักมาก่อนที่เคยบวชที่นี่ เราก็จะรู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ผมก็เตรียมไปตามสิ่งที่คิดว่าต้องใช้ เบื้องต้นที่ผมแนะนำที่ต้องเตรียมมา คือ หมอน ,ผ้าห่ม ,มุ้ง นี่แล้วแต่ว่าจะเอามาหรือไม่ เพราะ ในกุฏิจะมีมุ้งลวดให้ในที่ที่เป็นหน้าต่าง แต่ประตูจะเปิดโล่ง สำหรับผมไม่ได้เตรียมมุ้งไปแต่อย่างใด

พัดลม นี่จำเป็นมากๆ เพราะอากาศร้อนมากและช่วยกันยุงได้ดีเวลากลางคืน อุปกรณ์ประจำตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระะผม ขันน้ำ

สำหรับ สบู่และแป้ง นี่ก็แล้วแต่วิจารณญาณ เพราะทางพระอาจารย์ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วแต่มุมมอง อย่าง แป้ง หลายคนอาจะมองเป็นเครื่องหอม ซึ่งเป็นสิกขาข้อห้ามข้อหนึ่ง แต่ถ้ามองเป็น ยา ก็ได้ คือ บางคนต้องใช้ทาบริเวณโคนขาหนีบ หรือ ตามซอกที่มีการเสียดสี ก็ถือเป็นยา ได้

ส่วน สบู่ ผมก็เห็นหลายท่านใช้ สบู่เหลว ก็คงไม่เป็นไร แต่สำหรับผม ก็ใช้เพียงสบู่ก่อนเดียว แป้งก็ไม่ได้ใช้แต่อย่างใด และอย่าลืมกล่ิองใส่สบู่ อันนี้ผมลืมเอาไปด้วย เลยพลาดไปเต็มๆ ต้องไปเอาแก้วน้ำพลาสติกมาทำที่ใส่สบู่ แต่ถ้าไม่อยากยึดติดอะไรมากมาย ก็เป็นวิธีง่ายๆที่แนะนำให้ใช้

ผงซักฟอก สำหรับซักจีวร กระป๋องสำหรับซักผ้าหรือกะละมังก็ได้ ถือว่า จำเป็น จริงๆ ทางวัดก็มีเตรียมไว้ให้ แต่ถ้าพระนวกะ เยอะ ก็ต้องรอคิวกันไป ถ้าเตรียมไปได้ ก็ติดไปด้วยจะดีมาก ช้อน ส้อม ต้องติดตัวไปด้วย จำเป็นมากเช่นกัน

นอกนั้น หาก ก็อาจจะเป็นของส่วนตัวจริง เช่น แว่นตา คอนแทคเลนส์ น้ำยาคอนแทคเลนส์ ไฟฉาย(ไม่เอาไปก็ได้) รองเท้าแตะ นอกนั้น ผมก็คิดว่าการเป็นพระไม่ต้องใช้อะไรอีกแล้ว

เกือบลืมของที่ต้องเตรียมไปด้วย คือ เข็มขัด และเสื้อเชิ๊ตสีขาว 1 ตัว สำหรับใส่ในตอนเช้าเวลาเป็นนาค ก่อนบวช ซึ่งเสื้อจะเป็นแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ แล้วแต่สะดวก แต่ผมว่าแขนยาวดูเรียบร้อยกว่า (ผมใส่แขนสั้นกับเพื่อน) เข็มขัด นี่แล้วแต่ว่าจะเป็นแบบไหน แต่อย่าเอาแบบฉูดฉาดมากเกินไป ท่านใด ใช้ เข็มขัด คุณแม่ คุณป้า คุณย่า คุณยาย โปรดตรวจสอบให้ดีว่า สามารถคาดได้ รุ่นผมมีบางท่านคาดไม่ได้ โดนกันมาแล้ว -_-"

1 วันก่อนบวชต้องอยู่วัด
วันนี้เรียกง่ายๆ ว่า หลังจากผ่านการออดิชั่น(ท่องขานนาค) มาแล้วก็ถึงวันที่ต้องเข้าบ้าน เอ้ยย !! กุฏิ (จะบาปมั๊ยเนี่ย ตรู !!) วันนี้จะเป็นวันที่เตรียมตัวก่อนบวชหนึ่งวัน และต้องมานอนอยู่ที่วัด 1 คืน

โดยทางวัดจะนัดประมาณเทียงตรง เมื่อมาพร้อมกันแล้วที่ โรงเรียนพุทธธรรมเช่นเคย ก็จะมีกระดาษแปะ บอกลำดับ ชื่อ นามสกุล ฉายา ซึงจะเรียงตามลำดับอายุ โดยอายุมาก ก็จะอยู่ลำดับต้นๆ โดยรุ่นผม หลวงพี่ภันเต 1 จะอายุประมาณ 47 ส่วนผมภันเต 30 เท่ากับ อายุ ส่วนเพื่อนที่บวชพร้อมกัน ภันเต 35 เลยไม่ห่างกันมากนัก และจะบอก ฉายา ของแต่ละ่ท่านเพื่อใช้ในพิธีบวชต่อไป

เมื่อมาพร้อมกันแล้ว ก็จะรอพระอาจารย์แนะนำขั้นตอนและกำหนดการคร่าวๆ ว่าต้องทำอะไรและนัดเวลาซ้อมทำพิธีกันกีโมง จากนั้นก็มอบ ผ้าไตร และ เสื่อปูนอน จากนั้นก็จะให้ ออกมาจับคู่ ผู้ที่จะนอนร่วมกันในกุฏิ ซึ่งจะเป็นที่พักสำหรับ พระนวกะ(พระบวชใหม่) เรียกกันว่า กุฏิสีเหลี่ยม ลักษณะ คือ เหมือน เป็น ห้องแถว แต่ละด้านมีประมาณ 10 ห้อง เรียงต่อกันเป็นรูปสีเหลียม มี สนามหญ้าอยู่ตรงกลาง

โดยปกติ ถ้าบวชไม่เยอะ ก็จะนอนห้องละ 1 รูป แต่รุ่นผมมี 121 รูป ก็เลยต้องนอน ห้องละ 2 คน และมีบางส่วน ที่ ต้องไปนอนกุฏิอื่นบ้างตามแต่พระอาจารย์จะจัดให้ ผมโชคดีที่บวชพร้อมเพื่อน เราเลยจับคู่นอนด้วยกัน จากนั้น ก็แยกย้ายเข้าที่ัพัก

เมื่อเข้าที่พักแล้ว เราก็จะจัดแจง ปัดกวาด เช็ดถู และทำความสะอาดจนน่าพอใจ ก็จะเป็นเวลาำสำหรับการโกนหัว การโกนหัว ก็ทำกันตรงหน้ากุฏินั่นแหละ ใครที่อยากให้ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ปลงผมก็ทำกันตอนนี้เลย สำหรับ ท่านใด ที่ปู่ย่า ตายาย ของท่านไม่สะดวก ก็ให้ทำพิธีปลงผมมาจากบ้านก่อนก็ได้ เพราะที่ทำกันก็ไม่มีพิธีรีตรองอะไรเลย

ที่นี่เน้นแบบเรียบง่าย ผมให้ พ่อ แม่ และญาติๆ ได้ร่วมกันปลงผม หลังจากนั้นเมื่อสั้นจนเืกือบติดหนังหัวแล้ว ก็ล้างน้ำเอา สบู่ๆ ถูๆ และให้ พระที่ท่านชำนาญ ทำการโกนหัวต่อไป ตอนนี้แหละครับ ที่จะรู้ว่า หัวคนเราบางทีสิวมันก็เยอะเหมือนกัน บางคนก็ไปโดนสะกิด หัวสิว ก็เลือดออกซิบๆ ไปตามๆกัน บางคนใช้ ขมิ้น ทาหัวให้เป็นสีเหลืองทองตามวิธีโบราณ หัวจะได้ดูสีทองอร่ามวันบวช อันนี้แล้วแต่ว่าใครจะเตรียมไปด้วย

พอเราโกนหัว เสร็จ หันมามองหน้ากัน มันก็ขำๆดี จากนั้น ก็รอเวลานัด ร่ำลากับพ่อแม่ และญาติ ใครมีมือถือ เงินทอง อะไร ก็ให้ ญาติเก็บออกไปให้หมด เพราะทางวัดไม่อนุญาตให้ใช้ จากนั้น ก็เป็นเวลาที่ใช้การฟังกำหนดพิธีการต่างๆ ในวันรุ่งขึ้น และ ทำพิธีซ้อมใหญ่กำหนดการในวันพรุ่งนี้อีกรอบที่ลานหินโค้ง
พอเสร็จพิธีต่างๆ หลวงพ่อสมชายท่านก็นัดประชุม และอบรมนิดหน่อย ก่อนจะรับประทานอาหารเย็นเวลา 17.00 น. เรื่องกับข้าว ทางวัดให้เด็กวัดเตรียมไว้ให้ เป็นต้มจืด กับ ผัดเผ็ดปลากราย รับประทานร่วมกัน ตรงลานสนามหญ้ากุฏิสี่เหลี่ยม รสชาดใช้ได้ทีเดียว

จากนั้น ก็แยกย้าย อาบน้ำพักผ่อนตามอัธยาศัย และให้เตรียมคำพูดที่จะขอขมาบิดามารดาในวันรุ่งขึ้น ผมก็ไม่ได้เตรียมอะไร กะว่าจะด้นสดๆ เอา และนัดท่องคำขอบรรพชา กับอีกสองท่านที่จะบวชในชุดเดียวกัน เพื่อจะได้รู้จังหวะการท่อง และจะได้ไม่มีปัญหาในวันจริง จากนั้นก็พักผ่อน ตื่นเต้นมากๆกับวันรุ่งขึ้นที่จะเป็นวันเริ่ม "ชีวิตใหม่ "

วันบวช "วันเริ่มต้นแห่งชีวิตใหม่"
วันนี้คงเป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตวันหนึ่งของผม พระอาจาร์ยนัดประมาณ 04.45 ที่ โรงเรียนพุทธธรรม โดยในวันนี้ ก็ แต่งตัวเป็นนาค ใส่เสื้อขาวที่เตรียมมา และนุ่งผ้าขาว โดยในห่อผ้าไตร ก็จะมี ผ้าขาว มาด้วย โดยทางพระพี่เลี้ยงก็จะแนะนำวิธีนุ่งผ้า และใช้ เข็มขัดที่เตรียมมารัดไว้ ในวันนี้ก็ไม่ได้ใส่กางเกงในแล้ว เตรียมผ้าไตร และสะพายบาตรมาให้เรียบร้อย

จากนั้นก็ได้เวลาทานข้าวเช้า เวลาประมาณ ตีห้ากว่าๆ มี ข้าวต้มเปล่า มียำกุ้งแห้ง รสไม่จัดมาก พร้อม ปลาสลิด ทอด ทานกันจนอิ่ม ใครไม่อิ่มก็เติมได้ แต่ตอนนั้น มันเช้าเกินไป หลายๆคนอาจยังไม่คุ้นกับการทานข้้าวเช้าเวลานี้ เมื่อทานข้าวเช้า เสร็จพร้อมกันแล้ว ก็เดินแถวไปที่ลานหินโค้งซึ่งญาติของ นาค ที่จะบวช ก็เริ่มจะทะยอยกันมาหนาตาแล้ว
พอพร้อมกันที่ลานหินโค้ง ก็กราบพระ จากนั้น หลวงพ่อก็นัดหมายเวลา ว่า 6.45 ให้มาพร้อมกันที่ลานหินโค้งอีกครั้ง จากนั้นก็แยกย้ายไปทำพิธีขอขมา โดยให้นำบาตรให้พ่อ ผ้าไตรให้แม่ถือ จากนั้นก็กราบและกล่าวคำขอขมาที่เตรียมมา

เชื่อมั๊ยครับ พอถึงเวลานั้น ความตื่นตัน มันมาจุกอยู่ที่คอหอย พูดอะไรออกไม่มาก ผมได้แต่กล่าวขอขมาสั้นๆกับสิ่งที่ทำให้ พ่อและแม่เสียใจที่เคยได้ทำลงไป จากนั้นกราบขอขมาคุณปู่ และจากนั้นใช้เวลาถ่ายรูปกับญาติๆ

ถึงเวลานัดก็ไปพร้อมกันที่ลานหินโค้งเพื่อทำพิธีบวชเณรกันต่อไป พอทำพิธีเสร็จ ก็เปลี่ยนเป็นผ้าเหลืองให้เรียบร้อย โดย จะมีพระพี่เลี้ยงคอยช่วยนุ่งห่มให้ ความรู้สึกจากการห่มผ้าเหลือง มันทำให้เรารู้สึกสงบและเย็นอย่างบอกไม่ถูก ถึงแม้รอบๆ ตัวเราจะเต็มไปด้วย ญาติโยม ของแต่ละท่านที่มาบวช แต่เราก็รู้สึกสงบและนิ่งอย่างบอกไม่ถูก ความสำรวมทั้งทางกายและใจเกิดขึ้นเองตามอัตโนมัติ

จากนั้น ก็รอเวลาสำหรับการบวชพระ สำหรับ การบวชพระ จะบวชทีละ 30 รูปในโบสถ์ ผมโชคดีที่เป็นภันเตที่ 30 จึงเป็นคนสุดท้ายของรอบแรกพอดี เราก็จะเดินไปที่ โบสถ์ เพื่อเข้าไปทำพิธีการอุปสมบทกันที่นั่น

โดยจะทำพิธีทีละ 3 รูป เรียงกันไป ตามลำดับ และท่องคำบาลี ตาี่มที่ท่องกันมา โดยพระอุปัชฌาย์ คือ พระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาส ซึ่งหน้าของหลวงพ่อ ท่านจะดู เข้มๆ ดุๆ หน่อย ตามประสาคนใต้ แต่จริงๆ แล้วท่านใจดีมีเมตตามาก

ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น จากความสงบนิ่ง ความตื่นเต้นเริ่มมาเยือนอีกครั้ง กลัวว่าสิ่งที่เราท่องมาจะลืม แต่พอเวลาผ่านไป เริ่มทำมีสมาธิมากขึ้น จนผ่านพ้นการบวชไปได้เป็นอย่างดี จากนั้นพระอุปัชฌาย์ ท่านก็ให้ โอวาทแก่พระนวกะ(พระที่บวชใหม่) ว่าสิ่งที่ควรทำ 4 อย่างและสิ่งที่ไม่ควรทำ 4 อย่างคืออะไร จากนั้นก็ออกมาที่ลานหินโค้งเพื่อฉันเพล

ในเวลานี้จะมีพระนวกะ ใหม่จำนวน 30 รูป ส่วนที่เหลือยังเป็นสามเณร ระหว่างที่ชุดแรกกำลังทำพิธีบวชอยู่ สามเณรที่ยังไม่บวช จะมีเวลาถ่ายรูปกับครอบครัวและญาติ ๆ พอพระนวกะชุดแรกออกมาจากโบสถ์ ก็ถึงเวลาเพลพอดี ก็จะฉันเพลพร้อมๆ กัน

เกือบลืมเรื่องอาหารการกินในวันงานไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทางวัดจัดการให้ และถ้าญาติโยมท่านใด มีจิตศรัทธาก็ร่วมกันถวายทำบุญแล้วแต่กำลัง หลวงพ่อสมชายท่านทำแบบนี้ เพราะไม่ต้องการให้ญาติของพระ ต้องมาเหนื่อยในการเตรียมของทำบุญ บ้านนี้ ข้าวหม้อ แกงหม้อ รวมกันก็หลายหม้อ ลำบากเปล่าๆ ทางวัดเตรียมให้ ทั้งของคาว ของหวาน ผลไม้

โดยก่อนวันบวชหนึ่งวัน หลวงพ่อจะถามว่าพระแต่ละคนมีแขกประมาณกี่คน และจะบวกลบ เพิ่่มให้อีก 5 คน เพื่อจะได้กะจำนวนคนที่จะมางานได้ถูก ซึ่งถือว่าสะดวกดีสำหรับทุกคน

สำหรับสามเณรที่รอบวชก็จะทะยอยกันบวชเป็นรอบๆ ตามลำดับ ชุดละ 30 คน ซึ่งกว่าจะเสร็จชุดสุดท้ายก็ค่ำกันเลยทีเดียว

จะเห็นว่าที่นี่เน้นการบวชแบบเรียบง่าย ไม่ได้ยึดติดกับประเพณีและพิธีการอะไรมากเกินไป ที่นี่ไม่มีแห่นาคเดินรอบโบสถ์ ไม่มีคนคอยถือหมอน ถืออะไรมากมายให้สิ้นเปลือง มีเพียงผ้าไตรและบาตรเท่านั้น ที่ใช้เดินถือเข้าโบสถ์ โดยไม่มีใครได้เข้าหรือเดินตาม มีเพียงนาค เท่านั้น ที่ได้เข้า โบสถ์ ออกมาก็เป็นพระที่ต้องถือ สิกขา 227 ข้อ เหมือนๆกันกับวัดอื่น

ข้อแนะนำนิดนึง สำหรับท่านใด หรือผู้ปกครอง ที่ต้องการเ้น้นพิธีการต่างๆ คงไม่เหมาะกับวัดนี้ เพราะหลักการที่หลวงพ่อปัญญาท่านได้สร้างแนวทางนี้ไว้ การบวชคือการละซึ่งกิเลสและทางโลก

ผมว่าการบวชก็สะท้อนแนวคิดนั้นได้เป็นอย่างดี แต่บางที ด้วยประเพณีและวัฒนธรรม เราก็ทำกันตามๆกันไป จนลืมหลัการที่แท้จริงไปจนหมดสิ้น บางคนก็จัดงานใหญ่โต สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จัดงานเกินความจำเป็น แต่ไม่ได้อะไรจากการบวช ก็ืถือว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับผมพอบวชเสร็จแล้ว ออกมาจากโบสถ์ ก็ฉันเพล และมีเวลาได้ถ่ายรูปกับครอบครัวและเพื่อนๆ จากนั้นครอบครัวก็แยกย้ายกลับบ้านไป พระและเณร บางส่วนที่ยังไม่ได้อุปสมบท ก็จะได้ขึ้นไปเรียนวิธีการห่มจีวรแบบต่างๆ และทำพีธี พินทุผ้า (แสดงความเป็นเจ้าของ โดยจุดกลมๆ บนจีวร สบง และ สังฆาฏิ)

และในตอนเย็น ได้ทำการแบ่งสายบิณฑบาตร สำหรับพระแต่ละรูป สำหรับผมได้ไป หมู่บ้าน ถวิลดี เลยห้าแยกปากเกร็ดไปนิดนึง ก็ถือว่าไม่ไกลมาก ไปกลับ ประมาณ 3 กิโลเมตรหน่อยๆ โดยแต่ละสายจะมีพระพี่เลี้ยงหนึ่งรูป รวมพระนวกะ อีก 9 รูป รวมเป็น 10 รูป จากนั้น ก็แยกย้ายกลับกุฏิ เพื่อพักผ่อน


ชีวิิตพระในกุฏิสี่เหลี่ยม
เมื่อผ่านการบวชเป็นพระแล้ว ความรู้สึกสำรวมในความเป็นพระ จะปรากฏขึ้นเอง แต่บางครั้งเราก็อาจจะลืมตัวไปบ้าง เช่น ยังเผลอยืนฉันน้ำ หรือ พอเข้าห้องน้ำแล้วจะยืนปัสสาวะ ซึ่งตามหลักจะต้องนั่งปัสสาวะให้เรียบร้อย ถึงแม้เราอยู่ในห้องน้ำจะไม่มีใครเห็นก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวกันไป ในบทนี้เราจะพูดถึงชีวิตความเป็นพระ และชีวิตภายในกุฏิสี่เหลี่ยมกันครับ

หลังจากแบ่งสายบิณฑบาตรกันแล้ว ก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ เราก็มีเวลาได้ผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากเหนื่อยมาทั้งวัน ได้อาบน้ำอาบท่า และฉันน้ำปานะ เรื่องน้ำปานะ นี่ก็เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่า อะไรฉันได้อะไรฉันไม่ได้ ซึ่งพระอาจาร์ย์ที่สอนพวกผม พระอาจารย์มหาสนธยา ท่านก็จำแนกเป็นปานะประเภทต่างๆ ให้ฟัง(คงเขียนไม่หมด ลองหาข้อมูลเอาเองนะครับ)

ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าเอาตามหลักกันจริงๆ พวก นมทั้งหลายนี่เราก็ฉันกันไม่ได้เลย แต่ในประเทศไทย ก็อนุโลมกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพระอาจารย์ ท่านก็พูดปนขำว่า แล้ว แต่วิจารณญาณในการดื่ม ซึ่ง พอได้ฟัง ผมก็จะไปเน้นพวกน้ำผลไม้แทนในการฉันในช่วงหลังเที่ยงไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะฉันกันตามปกติ

พูดถึงน้ำปานะ ก็อดที่จะพูดถึงตู้แช่ไม่ได้ ภายในกุฏิสี่เหลี่ยม จะมีตู้แช่ ลักษณะ เหมือนตู้ไอติม คอยแช่น้ำเปล่าเป็นแก้วๆ หรือ ขวดๆบ้าง และพวกปานะ ต่าง เช่น นม น้ำผลไม้ หรือม ีน้ำอัดลมบ้าง ตามแต่ญาติโยมจะถวายมา หรือได้มาจากการบิณฑบาตร ก็จะรวบรวมมาไว้สำหรับพระใหม่ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงกัน

เรื่องการนอน ก็ไม่ต้องห่วง ภายในห้องเรา ก็จะเป็นห้องโล่งๆ เหมือนในรูปด้านบน เราก็จัดแจงปูเสื่อ ในห้องจะมีปลั๊กไฟให้ สองจุด สำหรับพัดลมสองตัว เนื่องจากช่วงที่ผมบวชร้อนมากๆ มีหมอนมาหนึ่งใบพร้อมผ้าห่ม ผมเอาผ้าแพรไป เพราะดูว่าอากาศคงร้อน เลยไม่เน้นห่มเท่าไหร่ เอาไว้กันยุงมากกว่า

นอนไปแรกๆ อาจจะยังไม่ชิน สักพักก็ทำใจได้และก็จะหลับไปเอง สำหรับผมเป็นคนนอนง่าย หลับง่าย เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหา ที่อยากแนะนำ คือ เอาจีวร มาปูนอน หรือห่ม จะบอกว่าสบายมากๆครับ (แรกๆไม่รู้ เซ่ออยู่นาน) เกือบลืมสิ่งสำคัญที่ควรนำติดตัวมาด้วย คือ นาฬิกาปลุก จำเป็นจริงๆ เพราะต้องเน้นมากเรื่องเวลา
สำหรับเรื่องห้องน้ำ ที่นี้จะมี ห้องน้ำใหญ่ 4 ห้องตามมุมของกุฎิสีเหลี่ยม ในแต่ละห้อง จะมีห้องสุขา 4 ห้อง มีที่อาบน้ำ เป็นฝักบัวประมาณ 4 อัน อ่างล้างหน้า 1 อ่าง การอาบก็ต้องกะเวลากันให้ดี เพราะถ้าเป็นช่วงพีคๆ ก็ต้องคอยกันนานทีเดียว แต่ผมและเพือนจะตื่นก่อนคนอื่นนิดหน่อย ทำให้ เราไม่ต้องแย่งห้องน้ำกับใคร

เรื่องอาบน้ำ นี่เรียกว่าถือเป็นกิจวัตรของพระบวชใหม่กันเลยทีเดียว เนื่องจากมีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็จะอาบน้ำกันตลอด วันนึงตกคนละ 5-6 รอบ เนื่องด้วยอากาศร้อน และต้องการความสบายตัวด้วย จึงทำให้การอาบน้ำ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี เพื่อนผมนี่หมดสบู่ไปหลายก้อนเลยทีเดียว

สิ่งที่ลำบากนิดหน่อยสำหรับการเป็นพระสำหรับผมคือ การอาบน้ำ เพราะเราจะต้องนุ่ง ผ้าอาบน้ำ ซึ่งเป็นผ้าบางๆ สีส้มๆ ต้องนุ่งทุกครั้งที่อาบน้ำ และด้วยที่เป็นห้องอาบน้ำรวม พระทั้งหลายก็จะอาบน้ำใกล้ๆกัน ไอ้ความลำบาก ก็คือการทำความสะอาดช่วงล่าง ที่ ต้องระวังกันให้ดี หากใครคำนวณไม่ดี ก็อาจมีการผ้าหลุดได้ แต่อาบไปอาบมาสักสองสามวัน ก็เริ่มชิน

อาบน้ำเสร็จ ก็เข้านอน ก่อนนอนก็สวดมนต์ แผ่เมตตา ก่อนหน้านั้น ก็แล้วแต่ใครจะกรวดน้ำ เราตั้งปลุกไว้ ตีสี่ครึ่ง ในวันแรก เนื่องจากยังไม่ได้ทำวัตรเช้าในช่วงสามวันแรก ปกติจะตืนตีสามครึ่ง ทำวัตรตีสี่ บิณฑบาตร ก็แล้วแต่สายจะเริ่มกันกี่โมง ของผมประมาณตี 5.45

ผมและเพื่อนมักจะตื่นกันมาก่อน เพื่อเตรียมตัว อาบน้ำอาบท่า แปรงฟัน ห่มจีวรที่ยังไม่ค่อยถนัดกันเท่าไหร่ เลยต้องเผื่อเวลา และ เตรียมช้อนส้อมใส่ในย่าม เตรียมบาตรให้เรียบร้อย

เมื่อห่มจีวรเรียบร้อยแล้ว พร้อมด้วยย่ามอยู่ทางไหล่ขวา บาตรสะพายคล้องไหล่เรียบร้อย เราก็ไปที่จุดนัดพบที่จะมีพระพี่เลี้ยงนัดเราไว้ ก็รอเวลาพร้อมออกบิณฑบาตร

ประสบการณ์บิิณฑบาตรวันแรก
หลังจากบวชเป็นพระมาแล้วหนึ่งวัน เช้าวันรุ่งก็เป็นวันแรกที่เราจะต้องออกบิณฑบาตรกัน โดยวันแรก หลวงพี่สายผม จะออกนำก่อน และจะนำประมาณ 2-3 วัน จากนั้น ก็จะสลับให้พระแต่ละรูปได้ผลัดกันเป็นผู้นำในแต่ละวัน

ซึ่งถือเป็นการฝึกภาวะความเป็นผู้นำไปในตัว เพราะไม่ใช่ว่าอยู่หน้า แล้วจะเดินดุ่ยๆ ไม่สนใจใคร ต้องดูเส้นทาง ว่าเดินสะดวกหรือเปล่า ถ้าเจอ เศษแก้ว หรือตะปู ก็จะมีวิธีส่งสัญญาณ โดยจะชี้ลงที่พื้นข้างที่มีวัตถุแปลกปลอมอยู่ พระที่เดินตามมา จะได้ทราบ และรูปอื่น ก็จะส่งสัญญาณบอกต่อๆกันไป

และต้องหันมาดูว่าพระรูปอื่นมีโยมใส่บาตรอยู่หรือเปล่าเป็นระยะๆ ต้องนำขบวนตอนข้ามถนน และที่ห้าแยกปากเกร็ด ก็ถือว่า รถเยอะอยู่พอสมควร และบางครั้งก็ต้องดูว่าทุกคนพร้อมหรือไม่ และต้องเฉลี่ยๆ กันถือของ เพราะสายเราไม่มีลูกศิษย์วัดเดินตาม

นอกเรื่องไปไกล กลับมาที่ประสบการณ์การบิณฑบาตร หลังจากทุกรูปพร้อมกันแล้ว เราก็เริ่ิมออกบิณฑบาตรกัน ก่อนออกเดิน ผมก็แผ่เมตตาและขอให้เดินโดยสวัสดิภาพ เมื่อออกพ้นตัววัด มาสักพัก เราก็จะเจอญาติโยมที่รอใสบาตรกันอยู่

ความรู้สึกในเวลานั้น มันตื่นตันจริงๆ ครับ กับการได้รับการใส่บาตรจากชาวบ้าน บางคนไม่ได้ใส่ พอเราเดินผ่านก็จะยกมือไหว้ น้ำตาผมแทบจะไหลออกทีเดียว มันทำให้เราต้องสำนึกว่า เราคือ พระ และต้องทำหน้าที่ของความพระให้ดีที่สุด

และทำให้เราได้รับรู้ว่า สังคมไทย ยังมีหลายๆคนที่ช่วยกันทำนุพระพุทธศาสนา จากรุ่นสู่รุ่น จนล่วงเลยมากว่า 2500 ปี ถึงแม้ เราจะรู้สึกว่าในปัจจุบัน มีคนมาอาศัยผ้าเหลืองหากินกันเยอะ แต่ การที่ทุกคนยังมีศรัทธาในศาสนาพุทธอยู่ ผมก็เชื่อ พุทธศาสนา จะยังดำรงอยู่ต่อไป

ถึงแม้จะเจ็บเท้าบ้าง แต่ความรู้สึกตื่นตัน มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเจ็บที่ตรงนั้นเลย ในสายผม ก็จะเรียงกันตามลำดับภันเต (เลขภันเตก็เรียงตามอายุ เช่น ภันแต 21 - 30 เป็นต้น) สายผมก็รุ่นๆเดียวกันนั่นแหละครับ เพียงแต่แก่เดือนกันเท่านั้นเอง ผมอยู่ลำดับสุดท้าย ในวันแรกๆ ก็เลยสบาย ไม่ต้องคอยดูทางเหมือนผู้นำ ผมจึงจ้องแต่พื้นและฝาบาตร กำหนดสมาธิไปตลอดทาง

และพระอาจารย์ได้สอนเราไว้ ว่าให้ สำรวม และไม่ควรวอกแวกไปกับเรื่องทางโลก เวลาเดินผ่านร้านหนังสือ เราก็จะก้มหน้า ไม่มองข่าวสารหรือ หนังสืออะไรที่อยู่บนแผง และผมก็คิดเอาเองในใจ ว่าจะพยายามเป็นพระที่ดูสำรวม อย่างน้อยก็ทำให้คนที่เราเดินผ่านได้รู้สึกว่า ปัจจุบัน ก็ยังมี พระที่สำรวม และอาจทำให้คนรู้สึกอยากใส่บาตร หรือใกล้ชิดกับศาสนามากขึ้น

เพราะผมก็เป็นคนนึง ที่บางทีก็ไม่ชอบ หากเจอพระเดินไม่สำรวม มองหน้าโยมผู้หญิง เดินถลกจีวร ผมก็คิด ว่าเมื่อเราเป็นพระแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำแบบนั้น ทำตัวแบบที่เราไม่ชอบ อันจะทำให้คนเริ่มหมดศรัทธากับพระไปเรื่อยๆ

ในการใส่บาตร จะจำแนกได้อยู่สองประเภท คือ ขาประจำ กับขาจร ขาประจำ นี่ก็จะเป็นโยมตามบ้านหรือ ร้านค้าต่างๆ ที่จะใส่เป็นประจำทุกวัน ไม่ได้ขาด และ โดยมากก็มักจะทำอาหารเอง หรือ ถ้าไม่ทันก็จะเป็นพวกของแห้งหรือสำเร็จรูป

ส่วนอีกกลุ่มคือ ขาจร ที่ เมื่อมีโอกาส จะทำการทำบุญใส่บาตร โดยมากก็มักจะเป็นวันเกิด หรือวันสำคัญใดในครอบครับ หรือ บางทีก็อยากทำบุญขึ้นมา ส่วนมากก็จะซื้อกับข้าวสำเร็จกับ ร้านค้าที่ขายของใส่บาตร เป็นต้น

เรื่องใส่บาตรนี่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งในความมีน้ำใจและความละแล้วจริงๆ เพราะ บางบ้านก็ใส่กันทุกวัน และเป็น ของที่ดีที่สุดสำหรับเค้า เพื่อเตรียมมาใส่บาตร จุดที่ใส่ประจำสำหรับ สายผม คือ เลยห้าแยกปากเกร็ดมาหน่อยจะมี จะร้านหนังสือ ที่จะใส่บาตรเป็นประจำ

ถัดไป ก็จะเข้าไปในหมู่บ้าน โดยมากจะเป็นผู้สูงอายุ ใส่บาตรกัน ออกมาย้อนกลับมาทางเดิม ร้านแม่ค้าหมูปิ้ง ก็จะรอใส่บาตร หลังจากพระเดินย้อนกลับมาทางเดิม จะใส่ทุกวัน หมู 2 ไม้ ข้าวเหนียว 1 ห่อ คิดดูนะครับ ว่า พระสิบรูป เป็นเงินขนาดไหนในแต่ละวัน สำหรับคนที่มาค้าขาย

ถัดมาร้านปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ และ ร้านแม้ค้าข้าวแกงก็จะใส่กันทุกวัน อาจมีขาจรมาแจมบ้าง ณ จุดนี้ นี่แหละครับ ความมีน้ำใจของคนไทยและศรัทธาในพุทธศาสนา ส่วนของใส่บาตรที่เราได้ในแต่ละ วัน ก็เยอะเอาเรื่อง

หลวงพี่ีที่เป็นพี่เลี้ยงจะแนะนำให้เราเอาของแห้ง หรือพวก น้ำๆ นมๆ ที่เป็นกล่องใ่ส่ในย่ามที่อยู่ในจีวร และ หากบางที ของเยอะก็ต้องใช้อีกมือ หิ้วถุงพลาสิก กลับวัดกัน

หลายคนอาจจะเคยคิดในใจว่า ทำไม พระไม่รับของแต่พอฉัน ไปรับมาเยอะแยะทำไม เราเป็นพระ เราเลือกไม่ได้ครับ โยมอยากใส่บาตร หน้าที่ของคือรับบาตรจากที่ญาติโยมตั้งใจใส่บาตรพระให้ดีที่สุด ถึงแม้บางวันจะหิ้วกันหนักแค่ไหน ก็ต้องทนกันไป

เรื่องให้พรนี่ก็สำคัญเหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้ว ทางวัดชลประทานไม่ต้องการให้พระให้พร แต่ก็มีแอบๆ กันบ้าง เพราะ ญาติโยมที่มาใส่บาตรบางคน ชอบที่จะได้ยินพร จากพระ เพือความสบายใจ หลวงพี่สายผม จึงให้พรเฉพาะ โยมที่เป็นขาประจำ ที่ต้องการรับพร

จริงๆแล้ว เรื่องพร นี่ ถือว่า โยมเค้าได้รับอานิสงค์ผลบุญ ตั้งแต่ตั้งใจจะใส่บาตรแล้วล่ะครับ ไม่จำเป็นที่รอจากคำของพระหรอก แต่เป็นประเพณีและความเชื่อตามๆกัน และอีกเรื่องที่เน้นกันมาก คือ เรื่องทำฝาบาตรตก เพราะโยมบางคนถือเรื่องนี้มาก อาจจะทำให้โยมไม่สบายใจ ดังนั้นเราจึงระมัดระวังในเรื่องนี้มากๆ

พอเดินครบหมดแล้ว ก็เดินทางกลับวัด พอถึงรั้ววัด เด็กวัดก็จะถือกะละมัง มาช่วยรับของบางส่วน เพื่อจะได้ยกไปรอที่ลานหินโค้ง วันไหนมาช้า เด็กวัดก็ไปช่วยส่วนอื่นกันหมด เราก็จะถือไปจุดพักของ
ที่วัดชลประทาน เราจะฉันเช้ารวมกันที่ลานหินโค้ง พอมาถึง เราก็จะถ่ายของในบาตร ออกไปในกะลังมังที่จะแยกของ พวก ข้าว ของคาว ของหวาน ของแห้ง ออกเป็นกะละมังๆ เราก็จะเลือกของที่เราจะฉันในแต่ละวัน และต้องเก็บบางส่วนลงในย่าม เพื่อเก็บไว้ฉันเพล ที่หน้ากุฏิ

เมื่อได้ของที่ต้องการฉันแล้ว เราก็เปลี่ยนการห่มจีวรจากแบบห่มคลุม (ใส่ตอนบิณฑบาตร )มา เป็นแบบ เฉวียงบ่า ดูในรูปข้างบนก็ได้ครับ จากเราก็จะ มานั่งเรียงตามลำดับและที่นั่งที่ได้จัดไว้ และจะรอจนกว่า ทุกสายจะกลับกันมาครบ

ในระหว่างที่รอ ก็จะเป็นเวลาที่ครอบครัวของพระแต่ละรูป อาจจะมาใส่บาตรลูกหรือหลานของตัวเอง เพราะวัดนี้ไม่นิยมให้มาส่งปิ่นโตกันตอนเพล ถ้าอยากจะใส่ก็ใส่กันตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ ช่วง7 โมงจนพระพร้อมกันแล้ว

เมื่อพร้อมกันแล้ว หลวงพอก็จะเทศน์นิดหน่อย และให้ท่องคำพิจารณาอาหารในบาตร ที่ขึ้นว่า "ปฏิสังขาโยนิโส " จากนั้นก็เริ่มทานอาหารได้ ทีีนี่จะให้ ทานข้าวในฝาบาตร ในบาตรจะใช้รับอาหารหรือของใส่บาตรเท่านั้น เราก็จะใช้ ช้อนส้อมที่เตรียมมาในการฉัน

ช่วงแรกก็อึดอัดนิดหน่อย เพราะช่วงแรกๆ ญาติของพระจะมาใส่ของกันเยอะมาก ของที่ใส่ถ้าเราไม่ฉัน ก็วางไว้ด้านหลัง เด็กวัดจะมาเก็บของนั้นอีกที และเป็นธรรมดาที่พอโยมมาเยอะ พระก็จะเกร็งๆ ในการฉัน ระหว่างฉัน ทางวัดก็จะเปิดคำสอนของหลวงพ่อปัญญาที่เคยบันทึกเทปไปด้วย

เราจะฉันกันประมาณครึ่งชั่วโมง พอราวๆ8โมงสิบห้า เราก็จะเช็ดฝาบาตร เก็บของ ผูกบาตรให้เรียบร้อย เตรียมกลับกุฏิ จากนั้นก็จะสวดให้พร ตามที่เราคุ้นเคยกัน ช่วงแรกยังท่องกันไม่ได้ พระอาจารย์ ก็จะให้เป็นการบ้านไปท่องให้ได้ และจะเรียกสุ่มมาท่องตอนประชุมเวลา 5 โมงเย็น จากนั้นก็เดินกลับกุฏิสีเหลี่ยมกัน

ชีวิตพระนวกะ
หลังจากเข้ากุฏิ เราจะมีเวลาไม่มาก เพราะมีเรียนภาคเช้าเวลา 9 โมงสิบห้า ดังนั้น พอเราเข้ากุฏิแล้ว จะถอดจีวร แปลงร่างเป็นชุดนุ่งผ้าอาบน้ำ เพื่อ ล้างบาตรและเตรียมอาบน้ำ หรือใครจะซัก จีวร ก็ว่ากันไป สถาที่ที่ล้างบาตร ซักจีวรก็ตามรูปด้านล่าง
หลังจากล้างบาตร และอาบน้ำ เรียบร้อยแล้ว ก็พักผ่อนได้แป๊ปนึง เราก็ต้องไปเรียนกันแล้ว ที่นี่ เราจะแบ่งช่วงเวลาในแต่ละวันดังนี้ ตื่นประมาณ ตีสาม ถึง ตีสาม ครึ่ง อาบน้ำ แปรงฟัน ทำวัตรเช้าเวลา ตีสี่ตรง ทำวัตรเช้าเสร็จประมาณตีห้า กลับกุฏิ เตรียมบาตร เพื่อเตรียมบิณฑบาตร ตามเวลานัดของแต่ละสาย

กลับมาก็ ฉันเช้าอย่างที่เล่าไปแล้ว ฉันเสร็จกลับกุฏิ ล้างบาตร อาบน้ำ เตรียมตัว เรียน ในเวลา 9.15 ถึง 10.45 กลับ กุฏิ ฉันเพล ที่หน้ากุฏิ หน้าห้องใครห้องมันจากนั้น ก็พักผ่อนตามอัธยาศัย บางคนก็อาบน้ำ และซักจีวรในช่วงนี้

เรียนอีกครัง 13.30 เลิกเรียน 15.30 จากนั้นเก็บของเรียบร้อย เปลี่ยนชุด มีเพียง อังสะ และสบง รอทำความสะอาด ตามจุดที่ได้รับมอบหมายในแต่ละกลุ่ม

ของผมได้กวาดลานวัด จากนั้น ก็ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย หลวงพ่อสมชายนัดประชุมอบรม ทุก 17.00 น.ของทุกวัน ที่ลานสนามหญ้ากุฏิสีเหลี่ยม ซึ่งเด็กวัดจะปูเสื่อรอไว้ให้ จากนั้น 18.30 ก็ไปทำวัตรเย็น ถึง 20.30 จากนั้นก็กลับกุฏิ นอนหลับเป็นตาย เช้าตื่นก็วนลูปไปแบบนี้ตลอด 16 วันที่บวช

นี่และครับ ชีวิตพระนวกะ ของ วัดชลประทาน ไม่เปลี่ยนไปจากนี้หรอก มีช่วงที่เรียนกรรมฐาน สี่วัน ที่จะไม่มีเรียนในช่วงเช้าและบ่าย เพราะไปเรียนกรรมฐาน วิปัสสนา แทน

ที่นี่จะเน้นเรื่องเวลามาก ไอ้ประเภทที่จะเป็น " เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน เย็นดูโทรทัศน์ ดึกสงัดฉันมาม่า " นั้นไม่มีเด็ดขาดที่วัดนี้ อ่านถึงตรงนี้ คนที่คิดจะบวชวัดนี้เปลี่ยนใจกันหรือยังครับ ^_^

เมื่อใกล้ครบกำหนด จิตก็จะว้าวุ่น
เอาแบบรวบรัดนะครับ เพราะ 15 วัน โดยมากก็จะเป็นแบบนี้เกือบทุกวัน ซึ่งข้อดี คือมันจะทำให้คุณไม่มีเวลาไปคิดถึงอย่างอื่น เพราะหากเราว่างมากเกินไป เราก็อาจฟุ่งซ่านได้ ในช่วง 4-5 สุดท้ายก่อนจะลาสิกขา ทางวัดจะมีประเพณี ที่พระนวกะรุ่นเก่าๆ สืบทอดกันมา นั่นคือการทำหนังสือรุ่น

ทางหลวงพ่อสมชายจะเตรียมปัจจัยไว้ให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านๆ มาก็จะทำกันในประมาณราคาประมาณที่กำหนด ในหนังสือรุ่น ก็จะเป็นที่รวบรวมประวัติของพระนวกะแต่ละรูป เพื่อใช้ติดต่อหรือมีอะไรก็คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลังลาสิกขาไปแล้ว ในฐานะ เด็กวัดชลประทาน เหมือนกัน

ก็จะมีทีมงาน ที่ใครถนัดอะไรก็จะช่วยๆกัน ใครถนัดถ่ายรูป ใครถนัดทำหนังสือ ก็จะมีคณะทำงานช่วยกันทีมหนึ่ง เพราะต้องรีบทำให้เสร็จก่อนจะลาสิกขากันไป

และช่วง 2-3 วันสุดท้าย ก็อาจมีพระบางรูปที่เริ่มนับถอยหลังกันบ้างแล้ว และเริ่มสนิมกันมากขึ้น ก็อาจจะมีการนัดแนะว่า สึกไปแล้ว จะไปทำอะไร หรือมีความสนใจหรืองานอดิเรกเหมือนกัน ก็เริ่มพูดคุย ขอเบอร์ติดต่อกันบ้างแล้ว ท่านไหนที่บวชต่อก็จะ เตรียมไป "สวนโมกขพลาราม" จ.สุราษฎร์ธานี ที่ท่านพุทธทาสได้สร้างเอาไว้

เพื่อไปปฏิบัติธรรม วิปัสสนา ต่ออีก 10 ที่โน้น ดังนั้นท่านใด ที่สนใจ ก็ควรลางานหรือคำนวณวันเวลาให้ดี เรื่องค่าใช้จ่าย ทางวัดออกให้ แต่ถ้ามีศรัทธา ก็บริจาคลงตู้รับบริจาคในกุฏิหลวงพ่อสมชายได้ เพราะค่าใช้จ่ายแพงเอาเรื่องเหมือนกัน ค่ารถไปไปกลับก็ประมาณ 1,700 แล้ว ผมเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ไปเนื่องจากลางานไว้เพียง 15 วัน

พอใกล้ๆ วันสึก เราก็จะนัดให้ทางบ้านนำชุดมาให้ ไม่จำเป็นต้องเป็นชุดใหม่แต่อย่างใด แต่สีก็ไม่ควรจะฉูดฉาดเกินไป ควรเอาสีเรียบๆ ธรรมดาก็พอ แต่ถ้าใครถือเคล็ด อยากได้ชุดใหม่ ก็ไม่ว่ากันแล้วแต่กำลัง

แต่จริงๆ หลวงพ่อท่านเน้นมาก ว่า สึกออกไปแล้ว ขอให้เป็นคนใหม่ ทำตัวให้ดี ใครทำให้พ่อแม่เสียใจก็กลับตัวกลับใจเสียใหม่ นั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเป็นคนใหม่มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์

วันสุดท้ายสำหรับผมคือวันที่ 9 มิย. วันนั้นก็มีเรียน ทำอะไรตามปกติ แต่ ก็มีพระบางรูปที่ได้นำกล้องมาในวันท้ายๆ เพื่อจะได้ถ่ายรูปเพื่อทำหนังสือรุ่นและเก็บบรรยากาศ ถ่ายรูปคู่กับพระอุปัชฌาย์ แต่ก่อนหน้านั้นห้ามนะครับ รูปที่ท่านเห็น ทั้งหมดในนี้ ก็มาจากฝีมือของพระนวกะที่มีฝีมือทุกท่าน ไม่ใช่ของผมแต่ประการใด( ขออนุญาตนำมาใช้และเผยแพร่นะครับ)

ในวันสุดท้าย เราก็จะเริ่มทะยอยเก็บของ อันไหนใช้ ไม่ใช้ ก็เริ่มเก็บของกลับบ้านกัน ของผมไม่ได้นำอะไรมามาก มีเพียงหนังสือธรรมมะ จำนวนเยอะมากที่ได้รับแจกจากทางวัด ที่ขนกลับบ้านเท่านั้น นอกนั้น บริจาคให้วัดหมด เช่น พัดลม แต่ต้องทำความสะอาดก่อนนะครับ (คนที่หันหลังขัดนั่นแหละครับ ผมเองและเพื่อน ที่บวชพร้อมกัน อิอิ)

หากท่านใดไม่อยากขนกลับบ้านก็บริจาคได้ เพราะทางหลวงพ่อ ก็นำไปบริจากต่อตาม โรงเรียน หรือวัดในที่ห่างไกล พวกขันน้ำ กระป๋องน้ำ จีวร ทั้งหมด ผมบริจาคหมด รวมถึงเงินที่จาการบิณฑบาตร ผมก็หยอดลงตู้บริจาคหมด
ซึ่งหลวงพ่อ ท่านก็ไม่ได้เน้นว่า จะต้องมาหย่อนลงตู้นะครับ เพราะถือว่าปัจจัยที่ได้มาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพียงแต่ขอให้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง แต่สำหรับผมก็ถือว่า นำเงินที่โยมใส่มาทำบุญถวายต่อ เพื่อกุศลกรรมที่ญาติโยมได้ตั้งใจเอาไว้ แต่ใครจะเก็บเอาไว้ก็ไม่ผิดนะครับ อันนี้เป็นเรื่องของแต่ละท่านครับ

และในสุดท้ายวันนี้ ก็หวิวๆ อยู่เหมือนกัน กับการที่เราได้มาพักจิตใจ มาทำให้จิตเราให้สงบนิ่ง เราต้องกลับไปเผชิญกับโลกที่หมุนเร็วต่อเนื่องกันต่อไป คิดแล้วก็ออกอาการเล็กน้อย ในวันสุดท้าย ผมตั้งใจทำทุกอย่างให้ดี ที่สุด ตั้งแต่บิณฑบาตร สวดมนต์แบบตั้งใจกว่าทุกวัน ตอนทำวัตรเย็น เสียดายที่วันสุดท้ายไม่ได้ฉันเช้าที่ลานหินโค้ง เนื่องจากฝนตกหนักมาก เลยไปฉันที่หน้ากุฏิแทน เหมือนฝนสั่งลาอาวรให้กับพวกเรา

วันลาสิกขา
วันสึกเราตื่่นไปทำวัตรเช้าตามปกติ โดยนำชุดไปด้วย พอเสร็จประมาณตีห้า พระท่านใดที่ยังไม่สึกก็ไปบิณฑบาตรตามปกติ รุ่นผมสึกกันในวันที่ 10 มิย. ประมาณ 80 กว่าท่าน ผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้

การลาสิกขา ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงท่องคำลาสิกขา ซึ่งมีเพียงบรรทัดเดียว ต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านก็จะมาทำพิธีด้วยตัวท่านเอง และจากนั้นก็เปลี่ยนชุดเป็นฆราวาส อาราธนาศีล 5 และ ฟัง โอวาทจากท่านประมาณ 15 นาที ก็เป็นอันเรียบร้อย มันโหวงๆ นะครับ เดินออกมาแบบงง ๆ ว่า อ้าว ไม่ได้เป็นพระแล้วเหรอเนี่ย

จากนั้นกลับกุฏิทะยอยเก็บของและรอพ่อแม่ ผู้ปกครองมารับ บางท่านก็กลับเอง แล้วแต่สะดวก ถ้ากลับเองแนะนำว่าอย่าลืมเตรียมเงินค่ารถไว้ด้วย ^-^

ตอนกลับกุฏิ ผมก็เดินไปร่ำลา บรรยากาศ กุฏิห้องที่เคยพักอาศัย ห้องน้ำ ลานสนามหญ้า และร่ำลากับเพื่อนๆ อวยพรขอให้โชคดีกันไป จากนั้นก็นำของไปบางที่จุดบริจาค ที่ หลวงพ่อให้เด็กวัดมาปูเสื่อเอาไว้ จีวร บาตร นี่ ใครไม่เอากลับบ้านก็บริจาคต่อได้

ซึ่งทางวัดจะไปให้พระและเณรในต่างจังหวัดได้ใช้กันต่อไป แต่ใครจะเอากลับบ้านไปเป็นที่ระลึก ไว้คอยเตื่อนจิตใจก็ไม่ผิดแต่ประการใด ผมและเพื่อนคุยกันแล้วว่า เราเอาไปบ้านก็ตั้งไว้ให้ฝุ่นขึ้น สู้บริจาคและทำประโยชน์ให้พุทธศาสนาต่อไปดีกว่า

อีกอย่างคือ ข้าวของเครื่องใช้ เราสามารถนำไปบริจาคต่อได้ เช่นสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ทางวัดเอาบริจาคให้ชาวบ้านที่ไม่มีได้ใช้กันต่อไป มีเรื่องนึง ผมฟังแล้วตาแทบเล็ด

หลวงพ่อเล่าว่า มีครั้งนึงได้เตรียมของบางส่วนไปให้กับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แถวห้วยขาแข้ง ในตอนนั้น มีของที่รับบริจาคไว้ แต่เด็กวัดคัดกรองไม่ดี ได้มีของติดไปด้วยในการบริจาค นั่น คือ แปรงสีฟันที่ใช้แล้ว หลวงพ่อบอกว่า ตอนนั้น อายมาก เพราะกลัวว่าทาง เจ้าหน้าที่ป่าไม่ จะรู้สึกไม่ดี แต่ทางเจ้าหน้าป่าไม้ ก็กล่าวขอบคุณและบอกดีใจด้วยซ้ำ ว่าของพวกนี้ใหม่กว่าที่ พวกเค้าใช้กันอยู่เสียอีก

ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็นำไปต้มน้ำร้อนฆ่าเชื้อ เพื่อนำไปใช้ต่อไป สบู่ที่ยังใช่ไม่หมด ก็นำไปใช้ต่อไป สิ่งนี้มันสอนให้เราเห็นถึงคุณค่าของ ของที่เราใช้ เพราะยังมีคนอีกเยอะที่ไม่มีโอกาสและใช้ได้ฟุ่มเฟื่อยแบบคนในเมือง

หลังวางของบริจาคเสร็จแล้ว ก็เข้าไปกราบลาหล่วงพ่อสมชายในกุฏิและ รอใส่บาตรพระที่ลานหินโค้ง หลวงพ่อท่านเทศน์ให้โอวาท เหล่าทิดใหม่ นิดหน่อย ก่อนเราจะกราบลา หลวงพ่อเรียกให้มารับเครื่องดื่มไปคนละขวด คนละกล่อง T-T ก่อนที่ทิดใหม่จะร่ำลากลับบ้านกันไป

ระยะเวลาการบวช 16 ผ่านไปอย่างรวดเร็ว และเป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิตกับการได้มาใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ใช้ชีวิต มีผ้าไม่กี่ผืน ฉันอาหารตามที่โยมบริจาค นอนเสื่อผืน หมอนใบ ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้

บทส่งท้าย
จริงแล้ว มีเรื่องเล่าขำๆ อีกมากมายในการพระ เช่น การอฐิษฐานอาหารในบาตร ซึ่งเป็นการพูดเล่นแบบขำๆของหลวงพ่อสมชายที่แนะแด่พระนวกะ บางคนที่ยังอยากฉันอะไรแบบที่ตัวเองชอบ ซึ่งหลวงพ่อท่านจะเน้นสอนให้ลองฉันอะไรแปลกๆ หรืออะไรที่เราไม่ชอบดูบ้าง

และที่สำคัญคือไม่ควรรบกวน โยมที่บ้านให้ทำกับข้าวหรือซื้อของที่เราอยากฉันมาถวายตลอดเวลา หลวงพ่อจึงแนะนำให้ อฐิษฐานสิ่งที่เราอยากฉันเอา ถ้ามีบุญบารมีพอ ก็จะได้สิ่งที่เราต้องการแทนเอา และเรื่องนี้ อยากจะบอกว่า ก็สนุกดีนะครับ

จะถือว่ามีกิเลสอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ ส่วนตัวผมจะพยายามฉันง่ายๆ ทั้งๆ ที่ผมเป็นติดน้ำปลาอยู่มาก แต่อยู่วัด ตอนฉันไม่มีก็ไม่เดือดร้อนอะไร บางทีเราได้ไข่ต้ม ก็กินจืดๆไปแบบนั้น(ถ้าคิดจะต้มไข่ใส่บาตร มีถุงน้ำปลาติดไปด้วยก็น่าจะดีนะครับ พอเข้าใจหัวอกพระ)

มีครั้งนึงหลังจากมาถึงลานหินโค้งหลังจากบิณฑบาตรเสร็จ ก็มานั่งรอพระรูปอื่นๆต่อไป อารมณ์ในตอนนั้น คือร้อนและกระหายน้ำมาก เลยลองอฐิษฐานในใจว่า ขอน้ำเย็นๆ มีน้ำแข็งมาด้วยจะดีมาก ไม่ถึง 5 นาที น้ำลำใย ชามะนาว ใส่แก้วมาเสิร์ฟถึงตรงหน้าเลย ตกใจนิดหน่อยแต่ก็ขำๆดี ยังบอกกับพระเพื่อนตอนเดินกลับกุฏิเลยว่าแรงอฐิษฐานผมก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย

จริงๆแล้ว พ่อแม่ของพระ ที่มาทำบุญบ่อยๆ ท่านคงสังเกตพระใหม่แต่ล่ะรูป ว่ามาถึง ก็มีท่าทางหิวน้ำ วันหลัง เลยจัดแจงน้ำมาถวายให้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแรงอฐิษฐานของผมหรอก แต่มีของท่านนึง ที่สนิทกัน ท่านแรงอฐิษฐานแรงมาก

อยากฉัน เคเอฟซี (อันนี้มารู้ทีหลัง) ซึ่งไอ้การได้เคเอฟซี นี่มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แต่วันนั้นดันมีโยมทางบ้านของอีกท่าน มาถวายพระพอดี ท่านนั้นนั่งอยู่ใกล้ๆ เลยได้อานิสงค์ไปด้วย ก็เลยโดนแซวว่า ท่านนี่ แรงอฐิษฐานขลังมาก ถือเป็นเรื่องขำๆกันในหมู่พระใหม่ต่อไป

มีเรื่องอีกเยอะสำหรัับชีวิตการเป็นพระที่คงเล่าไม่หมด ณ ที่นี้ คงเป็นประสบการณ์ที่อยากให้ทุกท่านได้เข้าไปรับและสัมผัสกับมันเองมากกว่า ผมดีใจที่ตัวเองคิดไม่ผิดที่บวชวัดนี้ ได้พบเจอคนดีๆมากมาย อยู่ท่ามกลางคนดี ทุกคนมีน้ำใจ มีความเป็นห่วงเป็นใย เือื้ออาทรซึ่งกันและกัน พร้อมจะเป็นฝ่ายให้ พร้อมขอโทษหากก้าวล่วงท่านอื่น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

"ขอโทษครับท่าน"
"เชิญท่านก่อนครับ"
"ไม่เป็นไรครับท่าน เชิญครับ"

คำพูดเหล่านี้เป็นคำที่ได้ยินอยู่เป็นประจำกับการใช้ชีวิต 16 วันในวัดชลประทานรังสฤษฏ์ การได้อยู่ในวัด ที่เน้นการปฏิบัต และวิถีแห่งพุทธศาสานาแท้ๆ ไม่เน้นงมงายกับวัตถุหรือพุทธพาณิชย์

ดำเนินตามรอยท่านหลวงพ่อปัญญา และหลวงพ่อพุทธทาส ที่ได้วางแนวทางไว้ เป็นวัดที่ยังคงอยู่ท่ามกลางการละเลยคำสอน และหลักปฏิบัติที่แท้จริงของพุทธศาสนาในประเทศไทย

การได้รับการอบรมจากพระครูธรรมธรสมชาย ที่เป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ ที่ใ้ห้โอวาท และอบรมและให้แง่คิดดีในการดำเนินชีวิต ซึ่งท่านจะเน้นสอนให้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่และทำตัวให้เป็นคนดีและไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ความรู้และข้อคิดดีๆ ที่ได้จากพระอาจารย์ทุกท่าน จะไม่มีวันลืมเลือน พระพี่เลียงที่คอยดูแลเอาใจใส่ในพระนวกะทุกรูป ก็ยังซึ้งในนำ้ใจของทุกท่าน

สิ่งต่างๆที่ได้จากการนั่งวิปััสนากรรมฐาน การได้เรียนรู้และรู้จักตัวเอง การให้จิดได้พัก ปล่อยวางจากเรื่องทางโลกการฝึกความอดทนจาการนั่งสมาธิและการได้นั่งรับบาตรที่ลานหินโค้งเป็นเวลานานๆ ฝึกความอดทนได้เป็นอย่างดี

การได้ฟังบทสวดปาติโมกข์ ในวันวิสาขบูชา เป็นอะไรที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิต การรู้วิธีห่มจีวร การเรียนธรรมมะ และพุทธประวัติ และข้อสงสัยอีกมากมาย ที่ได้รับการแลกเปลี่ยนจากเหล่าพระอาจารย์ทุกรูป

สิ่งต่างๆมากมายที่เปลี่ยนมุมมองในชีวิตผม สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่คุณอาจจะไปสัมผัสได้เช่นเดียวกับที่ผมได้รับ ที่วัดแห่งนี้ หากคุณพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ในชีวิตนี้คุณควรจะลองบวชดูสักครั้งในชีวิต เพราะมีสิ่งดีๆมากมายรอคุณอยู่ครับ ขอปิดท้ายด้วยกลอนที่ผมแต่งก่อนสึกตอนอยู่ที่วัดนะครับ

ก่อนหน้านี้ เป็นเพียง ฆราวาส
ตัดไม่ขาด จากชีวิต ที่เศร้าหมอง
รสพระธรรม ไม่เคยคิด จะลิ้มลอง
ยังลำพอง ในตัวกู ของของกู

พอได้บวช ศึกษา เรียนธรรมมะ
หลักพุทธะ ปฏิบัติ ตามวิถี
เหมือนเข็มทิศ ชี้ไป ทิศที่ดี
ชีวิตนี้ ยอมเป็นทาส ในพระธรรม

สิบห้าวัน ที่ตามรอย ตถาคต
ได้ลิ้มรส การเป็นพระ ไร้ตัณหา
มีเพียงบาตร จีวร และกายา
ได้ศึกษา ในพระธรรม พร้อมวินัย

เหมือนชีวิต ที่ตายแล้ว ได้เกิดใหม่
ได้เข้าใจ ชีวีนี้ มีจุดหมาย
พร้อมรับใช้ พุทธธรรม จนวันตาย
แม้มลาย จากไป ไร้ธุลี

วีตาลโย (ผู้ปราศจากเยื่อใย) ภันเต 30 รุ่นมหาวิสาขบูชา 53
ธานคับ

ปล.หากมีข้อสงสัยประการใด โพสต์คำถามหรือแสดงความคิดเห็นได้นะครับ ผมจะเข้ามาตอบเรื่อยๆ